อานิสงส์ ของการสร้าง พระพุทธรูป / นิธิ เอียวศรีวงศ์


นิธิ เอียวศรีวงศ์

จาก คอลัมน์ เรื่องจากปก ศิลปวัฒนธรรม
ฉบับวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ (ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๑๐) หน้า ๖๔

ได้เกิดความดำริกับผมมาก่อนปี พ.ศ. ๒๕๔๓ แล้วว่า ในโอกาสที่จะเกษียณอายุราชการ พอมีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่ง คิดอยากสร้างพระพุทธรูปถวายวัดในภาคอีสานสักองค์หนึ่ง เพื่อฉลองคุณบิดามารดาที่ได้เลี้ยงดูให้การศึกษา จนสามารถเลี้ยงชีพมาได้จนถึงแก่ชราปลดจากอาชีพการงาน

ทำไมจึงเป็นภาคอีสาน?

 

เหตุผลแบบอธิบายได้ก็คือ ผมได้ยินมามากว่าชาวบ้านในชนบทห่างไกลของอีสานมักอยากได้พระพุทธรูปทอง (สำริด) ไว้ในวัดของตัว ซึ่งมีแต่พระปูนปั้น ฉะนั้นถ้าผมสามารถถวายพระพุทธรูปสำริดไว้ในวัดที่มีผู้อยากได้ และอยากใช้เพื่อประโยชน์ในการเจริญธรรมของตนอยู่แล้ว ก็จะมีประโยชน์มากกว่าถวายไว้ในวัดที่มีพระพุทธรูปทองอยู่มากจนเหลือ "ใช้"

แต่ยังมีเหตุผลที่อธิบายไม่ได้อยู่ด้วยก็คือ ด้วยเหตุใดไม่ทราบ ผมรู้สึกมีความผูกพันกับชาวอีสานมาก ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิดในอีสาน หรือไม่เคยใช้ชีวิตในอีสานเลยก็ตาม

 

ผมจำได้ว่าแม่มีความประสงค์จะสร้างพระพุทธรูปถวายวัดมานานแล้ว แต่ด้วยเหตุติดขัดบางประการที่ผมไม่แน่ใจว่าคืออะไร แม่ไม่ได้มีโอกาสทำได้ตามต้องการ แม่มักพูดเสมอเมื่อบริจาคเงินอุดหนุนให้คนได้บวชพระว่า เมื่อไม่มีโอกาสร้างพระพุทธรูป ก็ขอได้สร้างพระภิกษุสงฆ์ไว้ในพระศาสนา ส่วนพ่อผมซึ่งเพิ่งหันมาใส่ใจพระพุทธศาสนาเมื่อชราลงแล้ว ไม่เคยแสดงความประสงค์จะสร้างพระพุทธรูปถวายวัดใดเลย ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะท่านยืนยันที่จะเป็นนัก "เหตุผลนิยม" (ซึ่งที่จริงก็เป็นระบบเหตุผลที่มีฐานแคบๆ อยู่กับวิทยาศาสตร์หรือวัตถุ) ตลอดชีวิต ท่านจึงอาจมองไม่ทะลุกรวดหินดินทรายหรือทองอันเป็นวัสดุที่ใช้สร้างพระพุทธรูปไปได้ พระพุทธศาสนาในทัศนะของท่านจึงเป็นพระธรรมคำสอนล้วนๆ

 

ในสมัยหนึ่ง ผมเองก็เคยตกอยู่ใต้กระแสวิธีคิดแบบนี้ ซึ่งที่จริงก็ต้องพูดว่าค่อนข้างแพร่หลาย ไม่ได้จำกัดอยู่กับพ่อผมเพียงคนเดียว ฉะนั้นที่อยากสร้างพระพุทธรูปถวายไว้ในพระศาสนานั้น อาจจะเป็นการแอบกบฏต่อพ่ออยู่ลึกๆ ในใจของผมเองก็ได้ ข้อนี้ผมวิเคราะห์จิตใจตัวเองไปได้ไม่ทั่วถึง แต่ที่ค่อนข้างจะจับได้แน่ๆ อย่างหนึ่ง ก็คือปฏิฆะส่วนตัวของผมเอง ก็มีส่วนผลักดันให้สร้างพระพุทธรูปอยู่ไม่น้อย เพราะผมสังเกตว่าคนที่รู้สึกตัวว่า "มีการศึกษา" ในเมืองไทยมักมองไม่เห็นประโยชน์ในการสร้างพระพุทธรูปถวายวัด หนึ่งก็เพราะวัดเรามีพระพุทธรูปอยู่แยะแล้ว ถึงจะเป็นปูนปั้นก็เป็นพระพุทธรูปซึ่งใช้เจริญธรรมได้เท่ากัน สองก็คือ ในขณะที่มีปัญหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในเมืองไทยมากเวลานี้ การสร้างพระพุทธรูปถวายวัด ไม่ได้มีส่วนแก้ปัญหาอะไร ที่พระพุทธศาสนาต้องเผชิญอยู่เวลานี้สักอย่างเดียว เช่นต่อให้เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะเลอเลิศอย่างไร ก็ไม่ช่วยทำให้คนไทยปัจจุบัน มีความสามารถในการมองโลกและชีวิตอย่างชาวพุทธที่แท้จริงได้ ฉะนั้นสู้เอาเงินไปทำอย่างอื่น ที่ช่วยฟื้นพลังปัญญาอย่างชาวพุทธให้แก่คนไทยไม่ได้

 

ผมไม่มีอะไรจะไปคัดค้านความคิดเห็นของคนที่รู้สึกตัวว่า "มีการศึกษา" เหล่านี้ได้ แต่ผมสังเกตว่าการยึดความเห็นแบบนี้อย่างสุดโต่ง อาจนำไปสู่การเหยียดแบบปฏิบัติของชาวบ้านว่าเป็นพุทธชั้นตื้น ในขณะที่แบบปฏิบัติของพวกตนเป็นพุทธชั้นลึกไปได้ ทั้งๆ ที่ผมพบว่า ในหลายกรณีโลกทรรศน์และชีวทรรศน์ของชาวบ้านนั้น สอดคล้องกับพุทธธรรมอย่างยิ่ง แม้ว่ายังปิดทองพระ หรือฉลองและแห่หลวงพ่อพระพุทธรูปประจำถิ่น เป็นงานประจำปีอยู่ก็ตาม

 

ฉะนั้นที่สร้างพระถวายในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากกิเลสที่นอนก้นในใจผมเอง คืออยากกวนประสาทคนอื่นก็ได้ พูดอย่างนี้แล้ว ก็ให้เกรงใจคนที่บริจาคเงินร่วมทำบุญในครั้งนี้ทุกท่าน แต่การทำบุญอยู่ที่ใจและปัญญา ใจผมไม่บริสุทธิ์นัก ปัญญาก็ยังมัวหมองด้วยกิเลสอยู่อย่างนี้ อานิสงส์ที่ผมพึงได้รับจึงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ท่านไม่จำเป็นต้องวางใจและปัญญาของท่าน ให้ไม่บริสุทธิ์และมัวหมองแบบผม ตั้งสติให้ดีแล้วรับอานิสงส์ ไปตามแต่ใจและปัญญาของท่านเถิด ไม่เกี่ยวกัน

เมื่อตัดสินใจจะถวายพระพุทธรูป ผมคิดแต่แรกว่าคงจะหาที่เขาทำสำเร็จเพื่อจำหน่าย (หรือทั่วไปเรียกว่าเช่าหรือบูชา) ไม่ได้ เพราะพระประเภทนั้น ที่ผมได้เห็นล้วนเป็นพระพุทธรูปสุโขทัยเสียทั้งนั้น ผมรู้สึกรังเกียจ ที่จะเอาพระพุทธรูปสุโขทัย ไปตั้งในอีสาน ความรังเกียจอันนี้ไม่มีเหตุผลอะไร เพราะนับตั้งแต่โบราณมาสกุลช่างใหญ่ๆ อย่างทวารวดีหรือสุโขทัยนั้น ส่งอิทธิพลพุทธศิลป์ออกไปทั่วดินแดนอันกว้างใหญ่ นอกพระราชอาณาจักรที่เป็นเจ้าของสุกลช่าง พระพุทธรูป "ลาว" จำนวนมากหรือแม้องค์ที่ผมสร้างขึ้นนี้ ก็มีอิทธิพลของสุโขทัยเจือปน (ตามสายตาของปฏิมากรผู้ปั้นจำลอง)

อย่างไรก็ตาม เมื่อตัดสินใจโดยไม่มีเหตุผลอย่างนั้นแล้ว ก็ตั้งใจว่า จะต้องไปจ้างเขาหล่อขึ้นใหม่ตามรูปแบบของพระ "ลาว" องค์ที่ผมชอบ ใจคิดถึงโรงหล่อดังๆ ของชาวบ้าน คิดว่าเมื่อเอาแบบไปให้ช่างดู เขาก็จะปั้นและหล่อขึ้นให้ใกล้เคียงได้ ที่คิดเพียงเท่านี้ก็เพราะมีกำลังอยู่เพียงเท่านี้ ไม่กล้าคิดถึงกับไปจ้างศิลปิน ปั้นจำลองให้ได้งานร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ระหว่างนั้นเอง เพื่อนของผมคนหนึ่งคืออาจารย์อุทิศ อติมานะ ซึ่งเป็นประติมากร และอาจารย์ของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับอาสาที่จะปั้นให้ และจะใช้เทคนิคที่ไม่ใช่ชาวบ้าน คือไม่ได้ปั้นด้วยขี้ผึ้งจากโกลน แต่ปั้นขึ้นจากดินเหนียวทั้งองค์ก่อ นแล้วจึงบุขี้ผึ้งในภายหลัง

ในครั้งแรก ผมเอาภาพของพระเหล่าเทพนิมิตร ของจังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นแบบ ท่านอาจารย์อุทิศอุตส่าห์เดินทางไปอุบลราชธานี แล้วถ่ายรูปจากมุมต่างๆ มามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วก็ขึ้นรูปและเริ่มปั้น

แต่เนื่องจาก อาจารย์อุทิศไม่เคยปั้นพระพุทธรูปมาก่อน ท่านจึงปรับปรุงแบบให้ถูกต้องตามหลักกายวิภาค แม้ท่านเข้าใจความหมายเชิงสัญลักษณ์ ของพุทธศิลป์โบราณ แต่สัญลักษณ์นั้น ก็ต้องมีหลักทางกายวิภาคอยู่ด้วย (เช่นแม้พระพาหาไม่มีกล้าม แต่ก็ต้องมีสัดส่วนความยาวที่ถูกต้อง) ในขณะเดียวกันก็เหมือนศิลปินไทยทั่วไป ท่านยังค่อนข้างนิยมพุทธศิลป์สุโขทัยเป็นพิเศษ บางส่วนจึงแก้มาทางสุโขทัยยิ่งกว่าต้นแบบเดิมเสียอีก

งานดำเนินไปอย่างช้าๆ เพราะท่านไม่ค่อยมีใจทำสักเท่าไรนัก เนื่องจากยิ่งทำใกล้เสร็จเท่าไร ก็ยิ่งเหมือนภาพนักกล้ามนั่งสมาธิ มากกว่าพระพุทธรูป สายตาศิลปินอย่างท่าน คงเห็นแล้วว่าใช้ไม่ได้ จนหมดกำลังใจจะทำต่อ จึงค่อนข้างจะทิ้งๆ เอาไว้โดยไม่ได้ทำให้เสร็จ จนวันหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปกว่าปีแล้ว ท่านจึงมาเสนอกับผมว่ายุบทิ้งเถิด พร้อมกันนั้นท่านก็เสนอพระพุทธรูปองค์ใหม่ ซึ่งท่านได้ภาพมาจาก หนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะลาวเล่มหนึ่ง ผมเห็นภาพแล้วเกิดความนิยมชมชอบ ไม่น้อยไปกว่าอาจารย์อุทิศ ตกลงทันที เพราะที่จริงผมก็ไม่ชอบรูปนักกล้ามนั่งสมาธินั้นอยู่แล้ว แต่ด้วยความเกรงใจจึงไม่กล้าพูด

อาจารย์อุทิศได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากความล้มเหลวครั้งแรก คราวนี้ท่านปั้นตามแบบในรูปภาพเป๊ะ ขนาดตีตารางรูปภาพละเอียดยิบ เพียงขึ้นองค์ได้หยาบๆ ยังไม่ทันแต่งรายละเอียด ก็ได้เห็นความงามอันลึกซึ้งที่ช่างลาวในอดีตได้เนรมิตไว้ คือความนิ่งสนิทมั่นคงอย่างมีสติรู้รอบ จากนั้นอาจารย์อุทิศก็ทำรายละเอียดจนได้หุ่นดินระดับร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ว่าต้องสันนิษฐานเบื้องพระปฤษฎางค์เอาเอง โดยเปรียบเทียบกับพระลาวอื่นๆ ที่มีภาพด้านหลังให้ชมด้วย

ต้นแบบที่ใช้ในการปั้นนั้นมาจากภาพในหนังสือศิลปะลาวเล่มหนึ่ง ตรวจสอบกับหนังสือศิลปะลาวเล่มอื่นๆ ที่มีภาพนี้แล้ว ล้วนไม่ระบุว่าองค์จริงประดิษฐานอยู่ที่ไหน ผมและอาจารย์อุทิศมีความเห็นร่วมกันว่า องค์จริงคงถูกใครขโมยไปขายเศรษฐีหน้าด้านใจบาปที่ไหนสักคนหนึ่งในโลกแล้ว จึงไม่กล้าระบุว่าอยู่ในการสะสมของใคร พระรัศมีขององค์จริงในภาพได้หลุดไปแล้ว และเช่นเดียวกับพระพุทธรูปหล่อของลาวส่วนใหญ่คือไม่มีพุทธบัลลังก์ นอกจากนี้จากสายตาของประติมากรและช่างหล่อ ต่างเห็นพ้องกันว่า องค์จริงมีขนาดเล็กกว่าองค์ที่ปั้นขึ้นใหม่นี้ซึ่งมีขนาดเท่ากับเท่าครึ่งของคน

เมื่อพระพุทธรูปได้หล่อเสร็จและอยู่ในระหว่างการตกแต่งแก้ไขทำรายละเอียดอยู่นั้น อาจารย์อุทิศได้มีโอกาสไปทำธุระบางอย่างที่หลวงพระบาง ท่านได้เข้าไปนมัสการพระพุทธรูปที่วัดเชียงทอง จึงไปพบว่า หน้าพระประธานปูนปั้นที่นั่นมีพระพุทธรูปสำริดสององค์ ใหญ่และย่อมลงมา มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปที่อาจารย์อุทิศปั้นเสร็จทุกประการ เพียงแต่มีพระรัศมีสูงมากเท่านั้น อาจารย์อุทิศคิดว่า องค์ใหญ่ซึ่งใหญ่กว่าองค์ของเรานั้นเดิมคงเป็นพระประธานมาก่อน แต่ภายหลังชาวบ้านอยากได้พระประธานใหญ่ขึ้นกว่านั้น จึงทำปั้นปั้นเลียนแบบขึ้น แต่อาจารย์อุทิศบอกว่าฝีมือไม่ถึง ส่วนพระสำริดองค์เล็กนั้นคงลอกเลียนมาจากองค์ใหญ่ มีฝีมือชั้นเอกอุเท่าๆ กัน มีขนาดเล็กกว่าองค์ที่ท่านอาจารย์อุทิศปั้นในครั้งนี้

พระพุทธรูปแบบนี้ผมเข้าใจว่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๒ ผมและอาจารย์อุทิศเห็นตรงกันว่า รูปแบบพระพุทธรูปลักษณะนี้ คงเป็นรูปแบบที่พัฒนามาจนได้ระดับคลาสสิค ที่พระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่วัดเชียงทอง จากนั้นก็มีช่างลอกเลียนหล่อขึ้นอีกหลายองค์ ทำนองเดียวกับพระลีลาสุโขทัยที่ระเบียงพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ซึ่งมีงานลักษณะเดียวกันทั้งปูนปั้นและสำริดซึ่งทำมาก่อน และทำหลังอีกมาก แต่ที่ลงตัวถึงจุดสุดยอดก็ไม่มีชิ้นใดเกินองค์ซึ่งประดิษฐานที่วัดเบญจะไปได้ เพราะชิ้นนั้นบรรลุระดับคลาสสิคแล้ว พระพุทธรูปที่วัดเชียงทองก็คงอย่างนั้น

ส่วนที่ขาดหายไปจากภาพต้นแบบคือพระรัศมีและพุทธบัลลังก์ อาจารย์อุทิศร่างรูปแบบต่างๆ ให้ผมเลือกร่วมกับท่าน ผลออกมาจากการเลือกของเราจึงเป็นอย่างที่เห็นอยู่นี้ บางส่วนก็อาจผิดประเพณีศิลปะลาวไปบ้าง เช่น พระรัศมี ในพุทธศิลป์ลาวมักไม่มีเส้นขอบนอกต่อจากพระเศียรเป็นยอดสามเหลี่ยมเหมือนพระสุโขทัย เราเลือกรูปแบบที่คล้ายลาว แต่ย่อให้สัมพันธ์สืบเนื่องกับเส้นขอบนอกของพระเศียร ส่วนพุทธบัลลังก์นั้นเราเลือกรูปแบบที่ค่อนข้างเรียบง่าย แต่รักษาสัญลักษณ์ทางศิลปะของพุทธบัลลังก์ไว้ทุกประการ

อานิสงส์ของการปั้นพระพุทธรูปบังเกิดแก่ประติมากรอย่างคาดไม่ถึง

แต่เดิมนั้นผมสังเกตว่า แม้อาจารย์อุทิศได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพุทธธรรมอยู่พอสมควร แต่ตัวท่านเองกลับพอใจที่จะหาเหตุผลมาแย้งมากกว่านำไปพินิจพิเคราะห์เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในชีวิต ครั้นได้ปั้นพระพุทธรูปจนเสร็จและหล่อขึ้นแล้ว เหลือแต่งานทำรายละเอียดที่ผิวโลหะ อาจารย์อุทิศเองกลับเดินทางไปเรียนสมาธิวิปัสสนาที่สำนักแห่งหนึ่ง ท่านอธิบายว่าพุทธศิลป์ซึ่งท่านในฐานะประติมากรต้องเข้าให้ถึงจิตวิญญาณที่แท้จริง โน้มนำท่านไปสู่ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา แตกต่างจากการอ่านหนังสือธรรมะซึ่งทำให้ได้ความรู้ในเชิงปรัชญาเสียมากกว่า

ผมทราบอยู่แล้วว่าแต่เดิมนั้นอาจารย์อุทิศมีศรัทธาในพุทธธรรมไม่สู้มากนัก ฉะนั้นผมจึงบอกท่านว่าเมื่องานเสร็จแล้วท่านก็ควรจารึกชื่อของท่านในฐานะประติมากรไว้ที่ฐานพระ ผมคิดว่าท่านมองพระพุทธรูปเป็นชิ้นงานทางศิลปะ ส่วนผมมองเป็นพระพุทธรูปก็ไม่เป็นไร เพราะเนื้อแท้จริงๆ แล้วพระพุทธรูปก็เป็นแค่ทองสำริดเท่านั้น ต่างคนต่างใจ จะมองอย่างไรก็ได้

แต่ปรากฏว่าเมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ยกเอาพระไปให้ช่างทำสีเนื้อโลหะอยู่นั้น ท่านกลับมาบอกผมว่า ท่านไม่อยากจารึกชื่อของท่านลงไว้ที่ไหนทั้งนั้น แต่ที่ยอมเซ็นชื่อให้ไปก็ด้วยความเกรงใจผม ท่านอธิบายไว้น่าประทับใจมากว่าเมื่อท่านปั้นพระองค์นี้ ท่านเข้าถึงวิญญาณของการสร้างสรรค์ศิลปะแบบโบราณของไทย-ลาว นั่นคืองานศิลปะเป็นการสร้างสรรค์ของสังคม สั่งสมสืบทอดความรู้และร่วมกันพัฒนาจนได้รูปแบบที่ลงตัว เขาสร้างพระก็เพื่อจะให้แก่สังคมทั้งที่อยู่ร่วมสมัยกับเขาและในอนาคต จึงไม่มีตัวตนของบุคคลเป็นศิลปิน ท่านอยากเดินตามกระบวนการสร้างสรรค์แบบโบราณอย่างนี้จนถึงที่สุด คือไม่มีตัวตนเป็นศิลปินผู้สร้างจนปั้นปลาย และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการให้ ไม่ใช่กระบวนการรับ

ความต้องการของท่าน สอดคล้องกับผม ที่อยากจะเอาข้อความอุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ ซึ่งติดที่ฐานพระออกมาไว้ที่ฐานปูนเช่นกัน (แต่เดิมเมื่อเริ่มงานนั้น เราไม่คิดว่าต้องมีฐานปูน) ดังนั้นเราจึงรีบไปติดต่อช่างหล่อว่าแผ่นจารึกทั้งสองคือจารึกลายเซ็นอาจารย์อุทิศ และจารึกคำอุทิศนั้น ไม่ต้องติดไว้ที่ฐานพระ ให้ส่งมอบให้เราไว้ เราจะนำไปติดที่ฐานปูนที่วัดป่าสุคโตเลย

แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผลเพราะช่างได้ติดแผ่นจารึกลงไปแล้ว ทั้งตอกหมุดแน่นหนา จึงต้องปล่อยเลยตามเลย แต่ก็อยากบันทึกเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า จารึกที่ฐานพระนั้นไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาของผู้สร้างและประติมากร แต่เกิดขึ้นด้วยอุบัติเหตุ

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าวิธีคิดของอาจารย์อุทิศนั้นเปลี่ยนไป การเข้าถึงกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะแบบโบราณ ที่ไม่เน้นตัวตนของปัจเจกบุคคลกลับเป็นที่ชื่นชม และอยากจะเลียนอย่างทำตาม นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงระดับลึกในบุคลิกภาพของอาจารย์อุทิศ หรือที่จริงของศิลปินรุ่นใหม่ทั้งหมดก็ว่าได้ ซึ่งผมคิดว่า เป็นอานิสงส์สำคัญที่ท่านได้รับจากการปั้นพระพุทธรูปองค์นี้ คือยึดมั่นในตัวตนน้อยลงเหตุที่เลือกวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ก็เพราะนอกจากมีคุณสมบัติตรงตามความตั้งใจแต่เดิมแล้ว ก็ยังเพราะวัดนี้ท่านเจ้าอาวาสคือท่านอาจารย์พระไพศาล วิสาโล เป็นพระภิกษุที่ผมมีความศรัทธาเลื่อมใสเป็นพิเศษอีกด้วย

ผมได้อ่านบทความของท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ เรื่องพระสูตรดับทุกข์นี้ ตั้งแต่ลงในมติชนรายวัน แล้วก็ชอบใจ ตั้งใจจะขออนุญาตท่านเพื่อเอามาจัดพิมพ์ในวาระที่ถวายพระแก่วัด ปรากฏว่าท่านได้เอาไปปรับปรุงและตีพิมพ์มาแล้ว (เข้าใจว่าหลายครั้ง) ซึ่งก็ไม่น่ารังเกียจแต่อย่างใด เพราะถึงอย่างไรผมก็อยากเห็นความในพระสูตรนี้แพร่หลายในหมู่ชาวพุทธไทยอยู่นั่นเอง ผมจึงได้เอ่ยปากขออนุญาตท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์วันหนึ่งที่เจอกัน นอกจากท่านได้กรุณาอนุญาตแล้ว ยังจัดหาต้นฉบับจากฉบับพิมพ์ที่ท่านได้ตรวจแก้สมบูรณ์ที่สุดแล้วมาให้ด้วย ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ไว้เป็นอย่างสูงในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง

ผมมีความคิดมานานแล้วว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนไป มีอุปสรรคปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้น จนทำให้ยากที่พระจะรักษาบทบาทผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวบ้านสืบไป เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างพระและชาวบ้านห่างเหินกันมากขึ้น จนทำให้การเทศนาหรือแสดงธรรมด้วยคำพูดกลายเป็นสื่อที่มีความสำคัญขึ้นอย่างมาก แต่ใช่ว่าพระทุกรูปจะมีความสามารถด้านแสดงธรรมหรือสนทนธรรมเหมือนกัน ตรงกันข้าม ในขณะที่ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผมออกจะสงสัยว่าความสามารถของพระด้านนี้จะลดลงด้วยซ้ำ ฉะนั้นผมจึงคิดว่าเราควรจะช่วยเพิ่มพูนความสามารถด้านนี้ของพระและวัดให้มากขึ้น ด้วยการสร้างสื่อประเภทต่างๆ ที่เหมาะสำหรับการส่งสาร ที่เหมาะสมกับธรรมะให้ท่านได้ใช้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นภาพสไลด์, วิดีโอ, ซีดีรอม ฯลฯ อันเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงสื่อง่ายๆ เช่น หนังสือ สำหรับให้พระสามารถแจกจ่าย หรือแสดงให้ชาวบ้านที่เข้าวัดได้ชมได้ฟังได้อ่านกันอย่างสะดวก

และนี่คือความประสงค์ที่พิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ นี้ขึ้น นอกจากเป็นที่ระลึกในโอกาสที่ได้ถวายพระพุทธรูปแก่พระศาสนาแล้ว ก็หวังว่าจะพยายามเผยแพร่หนังสือนี้ไปยังวัดวาอารามต่างๆ ตามกำลังความสามารถ เพื่อประโยชน์ของพระท่านดังที่ได้กล่าวแล้ว

คำนำ หนังสือพระสูตรดับทุกข์ ของ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
๒ มีนาคม ๒๕๔๖

แห่พระพุทธรูปจากเชียงใหม่ ไปวัดป่าสุคโตที่ชัยภูมิ

ว่ากันว่าใครที่เริ่มกินของขม ชมสาวสวย ช่วยศาสนา หาของเก่าและเล่าเรื่องอดีต มักจะเริ่มแก่ตัว ใครจะเป็นแบบไหนแล้วบ้าง ไม่รู้ แต่ท่านอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สร้างพระพุทธรูปถวายวัด แต่จะช่วยศาสนา ต่อชะตาชีวิตหรือแก้บน เป็นปริศนาที่หลายคนคงอยากรู้

พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นครั้งนี้ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ที่ได้แบบจากหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะลาว โดยฝีมือการปั้นของอาจารย์อุทิศ อติมานะ อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อพระพุทธรูปหล่อเสร็จ ด้วยความรู้สึกที่อยากสร้างพระพุทธรูป ถวายวัดในภาคอีสาน ผสานกับความเลื่อมใส ศรัทธาเป็นพิเศษต่ออาจารย์พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคโต อาจารย์นิธิจึงนำพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาถวายวัดป่าสุคโต ในอำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๖

กัลยาณมิตร ที่ทราบข่าวการสร้างพระพุทธรูป ของอาจารย์นิธิ ต่างขอร่วมบริจาคเงิน และร่วมเดินทาง ไปทำบุญถวายองค์พระพุทธรูปครั้งนี้ หลายคน มีทั้งคณาจารย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น อาจารย์วารุณี ภูริสินสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ อาจารย์ไพสิฐ พานิชกุล จากคณะรัฐศาสตร์ อาจารย์อุทิศ อติมานะ ประติมากรผู้ปั้นพระพุทธรูป อาจารย์สมเกียรติ ตั้งนะโม จากคณะวิจิตรศิลป์ อาจารย์อุทัยวรรณ กาญจนกามล คณะทันตแพทย์ อาจารย์ชัชวาล ปุญปัน นักฟิสิกส์คณะวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ในส่วนที่เดินทางไปจากกรุงเทพฯ ก็มีหลายท่านเช่น อาจารย์เกษียณ เตชะพีระ ที่พาครอบครัวไปทำบุญด้วย อาจารย์พัชรา จิตอำไพ นักวิชาการจิตวิทยา จากศิริราชพยาบาล อาจารย์อัจฉรา บัวเลิศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว รวมทั้งมีชาวบ้านที่เขื่อนปากมูลจากจังหวัดอุบลราชธานี ที่เลื่อมใสอาจารย์นิธิเดินทางมาร่วมทำบุญด้วยเช่นกัน

พิธีที่จัดขึ้นเป็นไปด้วยความเรียบง่าย เวลาประมาณ ๐๙.๓๐ น. เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณลานประกอบพิธีเรียบร้อยแล้ว ก็ไปนิมนต์พระมาประกอบพิธีบริเวณลานกลางแจ้ง ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งอยู่ภายในวัด กล่าวอาราธนาพระสงฆ์ แล้วก็กล่าวคำถวายพระพุทธรูป เสร็จแล้วก็กรวดน้ำ รับศีลรับพร

ในงานไม่มีขบวนแห่ ไม่มีแตรวง ไม่มีงานเลี้ยงพระใหญ่โต ไม่มีการประกาศเกียรติคุณออกไมโครโฟน หลังเสร็จพิธีเป็นเวลาใกล้เพล ท่านเจ้าอาวาสยังเลี้ยงอาหาร ให้กับผู้ที่มาร่วมงานอีกด้วย เรียกว่าอิ่มทั้งบุญ อิ่มทั้งท้อง เห็นผลบุญกันทันตา

การทำบุญอยู่ที่ใจและปัญญา ใครอยากทำแบบอาจารย์นิธิบ้างท่านไม่สงวนสิทธิ์ แต่ที่แน่ๆ ท่านยังไม่แก่ แล้วก็ไม่ได้แก้บน